มาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวง และรูปแบบการติดตั้ง

ภาพปกบทความมาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวง

ในปัจจุบันที่ผู้คนต้องเดินทางเป็นประจำ ความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะการขับขี่ในเวลากลางคืนที่มีทัศนวิสัยจำกัด การติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างตามมาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวงจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของประชาชน

บทความนี้เราจะมาแนะนำกฎเกณฑ์และมาตรฐานไฟฟ้าแสงสว่างกรมทางหลวงที่ผู้ใช้งานควรรู้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรและหน่วยงานในการติดตั้งอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ความสำคัญของมาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวง

มาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวงเป็นมาตรฐานที่ระบุเอาไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างทัศนวิสัยที่เหมาะสมสำหรับการขับขี่ในสภาพการจราจรบนท้องถนนแต่ละประเภท ลดการเกิดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยในระยะยาว โดยองค์ประกอบสำคัญหลัก ๆ ที่มาตรฐานไฟฟ้าแสงสว่างกรมทางหลวงกำหนดไว้ ได้แก่ ความสว่าง, รูปแบบการกระจายแสง, ตำแหน่งในการติดตั้ง และประเภทของหลอดไฟที่ใช้งาน

การติดตั้งเสาไฟตามมาตรฐานความสว่างไฟถนน กรมทางหลวง

ตามแบบมาตรฐานเสาไฟฟ้ากรมทางหลวง สามารถแบ่งรูปแบบการติดตั้งเสาและโคมไฟถนนออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

1. การติดตั้งไฟแบบต่อเนื่อง (Continuous Lighting)

การติดตั้งไฟแบบต่อเนื่อง (Continuous Lighting) เป็นการติดตั้งโคมไฟเหนือระดับพื้นถนนเรียงต่อกันเป็นแนวไปตามเส้นทาง โดยเหตุอันควรในการพิจารณาการติดตั้งโคมไฟแบบต่อเนื่องมีดังนี้

  • มีปริมาณรถสัญจรเฉลี่ย 25,000 คัน/วันขึ้นไป
  • พื้นที่บริเวณใกล้เคียงมีแสงสว่างจ้ามากซึ่งรบกวนทัศนวิสัยระหว่างขับขี่
  • มีปริมาณคนเดินเท้าสูงในช่วงเวลากลางคืน
  • มีความสับสนของการจราจร เช่น ทางแยก หรือการเปลี่ยนแปลงช่องจราจร
  • มีสถิติอุบัติเหตุในเวลากลางคืนมากกว่า 2 เท่าของเวลากลางวัน

2. การติดตั้งไฟเฉพาะบริเวณ (Specific Lighting)

การติดตั้งไฟเฉพาะบริเวณ (Specific Lighting) เป็นการติดตั้งไฟถนนในจุดเฉพาะซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุสูง เช่น ทางแยก สะพาน จุดเลี้ยวโค้ง หรือทางม้าลาย โดยเหตุอันควรในการพิจารณาการติดตั้งโคมไฟเฉพาะบริเวณมีดังนี้

  • ทางแยกที่มีการติดตั้งไฟสัญญาณจราจร
  • ทางหลวงที่มีการเปลี่ยนแปลงกายภาพในทันที
  • ทางโค้งรัศมีแคบ หรือมีความลาดชันมาก
  • สะพานที่โค้งและทางแยกต่างระดับ
  • ทางข้ามหรือทางม้าลายที่มีไฟสัญญาณจราจร หรือที่มีจำนวนคนเดินข้ามสูง
  • ในบริเวณชุมชนที่มีสถิติอุบัติเหตุในเวลากลางคืนมากกว่า 2 เท่าของเวลากลางวัน
ไฟถนนช่วงเวลาเย็น

การเลือกใช้ไฟ ตามมาตรฐานมาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวง

การเลือกใช้ไฟฟ้าแสงสว่างจะพิจารณาใน 2 ลักษณะ คือ

  • คุณสมบัติการกระจายแสง (Light Distribution)

โคมไฟฟ้าแสงสว่างจะมีลักษณะการกระจายแสงแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

  1. Cut-Off

โคมไฟที่มีการควบคุมแนวส่องของลำแสงอย่างสมบูรณ์ โดยลำแสงจะไม่กระจายออกเหนือโคมไฟ ทำให้แสงส่องไปยังพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดการเกิดแสงจ้าที่รบกวนสายตาผู้ขับขี่ เป็นรูปแบบโคมไฟที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดตามมาตรฐานความสว่างไฟถนน เหมาะกับการติดตั้งบนทางหลวงสายหลักที่การจราจรใช้ความเร็วสูง

  1. Semi Cut-Off

โคมไฟที่มีการควบคุมแนวส่องของลำแสงกึ่งสมบูรณ์ โดยแสงจะกระจายออกด้านบนเล็กน้อย ทำให้ส่องสว่างพื้นที่ได้มากขึ้น แต่อาจทำให้เกิดแสงจ้ารบกวนสายตาได้หากติดตั้งไม่เหมาะสม เหมาะกับการติดตั้งบริเวณทางหลวงซึ่งมีพื้นที่สองข้างทางเป็นชุมชน หรือพื้นที่ที่มีแสงจากสภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก

  1. Non Cut-Off

โคมไฟที่ไม่มีการควบคุมแนวส่องของลำแสง ทำให้แสงกระจายออกรอบทิศทาง ไม่เหมาะกับการติดตั้งบนทางหลวงเพราะจะทำให้เกิดมลภาวะทางแสงซึ่งรบกวนทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ แต่จะนิยมใช้กับซอยหรือถนนขนาดเล็กที่ต้องการแสงสว่างในวงกว้าง

  • ชนิดของต้นกำเนิดแสง (Typical Light Sources)

โดยหลอดไฟที่นิยมใช้งานตามที่ได้ระบุในมาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวงปี 2554 มีดังนี้

  1. หลอดโซเดียมความดันไอสูง (High Pressure Sodium Lamp)

หลอดไฟที่มีค่าความสว่างค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 70-130 ลูเมนต่อวัตต์ และมีความถูกต้องของสีอยู่ที่ 20% ซึ่งมากกว่าหลอดโซเดียมความดันไอต่ำ มีโทนสีที่เหมาะสมกับงานด้านความปลอดภัย นิยมใช้เป็นไฟถนนที่ไม่ใช่ย่านธุรกิจและไฟสวนสาธารณะ

  1. หลอดโซเดียมความดันไอต่ำ (Low Pressure Sodium Lamp)

หลอดไฟที่มีค่าความสว่างอยู่ที่ 120-200 ลูเมนต่อวัตต์ มีอายุการใช้งาน 8,000 – 24,000 ชม. จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นไฟถนนเพราะแสงสีเหลืองเป็นสีที่มนุษย์มองเห็นได้ดีที่สุด แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้งานเพราะมีสีที่เพี้ยนซึ่งส่งผลกับการมองเห็น

  1. หลอดปรอทความดันไอสูง (Mercury Vapor Lamp)

นิยมเรียกอีกชื่อนึ่งว่า “หลอดแสงจันทร์” เป็นหลอดไฟถนนที่มีความถูกต้องของสีค่อนข้างสูง มีความสว่างอยู่ที่ 50-80 ลูเมนต่อวัตต์ เหมาะสำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ไฟถนน ไฟสาธารณะ หรือบริเวณร้านค้าในพื้นที่ที่มีเพดานสูง

  1. หลอดเมทัลฮาไลด์ (Metal Halide Lamp)

หลอดไฟที่มีสเปกตรัมสีครบถ้วน และมีค่าความสว่างอยู่ที่ 60-120 ลูเมนต่อวัตต์ เหมาะกับการใช้งานที่เน้นความถูกต้องของสีเป็นหลัก เช่น งานพิมพ์สี สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า หรือโรงงานที่ต้องใช้ความแม่นยำในการทำงาน แต่มีข้อจำกัดคืออายุใช้งานที่น้อยกว่าหลอดไฟแบบอื่น ๆ

  1. หลอด LED (Light-Emitting Diode)

หลอดไฟ LED คือ หลอดไฟที่ให้แสงสว่างโดยอาศัยหลักการทำงานของไดโอดเปล่งแสง ค่าความสว่างจะขึ้นอยู่กับขนาดและกำลังไฟของหลอด ซึ่งข้อดีของการใช้เสาไฟถนน LED คือ ให้แสงสว่างที่สม่ำเสมอ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟแบบเดิม ๆ ถึง 80% สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ในระยะยาว ไม่ก่อให้เกิดรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทำให้หลอดไฟ LED เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการให้แสงสว่างในปัจจุบัน ด้วยข้อดีทั้งในด้านประสิทธิภาพ พลังงาน และความปลอดภัย การเลือกใช้หลอดไฟ LED ช่วยให้ประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย และยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

โคมไฟกระจายแสงแบบ-Cut-Off

มาตรฐานความสว่างไฟถนนกรมทางหลวง

เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและให้แสงสว่างในแต่ละพื้นที่เหมาะสมกับการใช้งานจริง กรมทางหลวงจึงได้กำหนดมาตรฐานความสว่างไฟถนนกรมทางหลวงตามตารางด้านล่างนี้

ประเภทถนนพื้นที่ในเมืองพื้นที่ชานเมืองพื้นที่นอกเมือง
ทางหลวงพิเศษ21.5 lux15.0 lux10.75 lux
ทางแยก21.5 lux21.5 lux15.0 lux
ทางหลวงสายหลัก21.5 lux13.0 lux9.7 lux
ทางหลวงสายรอง13.0 lux9.7 lux6.5 lux
ถนนท้องถิ่น9.7 lux6.5 lux2.1 lux

โดยจะเห็นว่าจุดที่ควรเน้นความสว่างเป็นพิเศษคือพื้นที่ทางแยกซึ่งมีโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าบริเวณอื่นหากมีมุมอับหรือแสงสว่างไม่เพียงพอ และทางหลวงพิเศษซึ่งผู้ขับขี่มักขับรถด้วยความเร็วสูงและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

การติดตั้งไฟถนนตามมาตรฐานไฟถนนกรมทางหลวงถือเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานควรให้ความสำคัญ เพื่อลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับขี่ นอกจากนี้ การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง เช่น โคมไฟถนนและเสาไฟถนนที่ได้มาตรฐาน ผลิตด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ และติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบแสงสว่างและลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในระยะยาว

Winner Light ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย พร้อมบริการติดตั้งเสาไฟถนน โคมไฟถนน เสาไฟถนนโซลาร์เซลล์ ที่ครองใจลูกค้ามาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านแสงสว่างได้อย่างครอบคลุม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เบอร์โทรศัพท์ : 02-415-7576-7, 081-880-6616
Website: www.winnerlight.co.th
Facebook: www.facebook.com/bangbonstation