ประเภทของโคมไฟ และวิธีเลือกโคมไฟที่ใช่

ประเภทของโคมไฟ ประเภทโคมไฟ มีกี่ประเภท

“โคมไฟ” คือหนึ่งในแหล่งกำเนิดแสงที่นิยมใช้งานเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยตัวเลือกด้านรูปร่าง ลักษณะ ที่รองรับหลากหลายวัตถุประสงค์ การเลือกใช้โคมไฟที่เหมาะกับการใช้งาน ให้แสงสว่างเพียงพอ และออกแบบในลักษณะที่ตรงความต้องการ จะช่วยให้การใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับประเภทของโคมไฟที่นิยมใช้ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะ รวมถึงไขข้อสงสัยว่าจริง ๆ แล้ว โคมไฟ มีกี่ประเภท แล้วแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร และเคล็ดลับในการเลือกโคมไฟให้เหมาะสมกับพื้นที่และการใช้งาน

ประเภทของโคมไฟที่ใช้ในพื้นที่ส่วนบุคคลและอาคาร

โดยปกติแล้วโคมไฟที่ใช้ในบริเวณบ้านหรือพื้นที่ส่วนบุคคลจะมีลักษณะการออกแบบที่คล้ายคลึงกัน เน้นการให้แสงสว่างที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงสร้างบรรยากาศให้ดูสวยงาม ซึ่งประเภทโคมไฟที่นิยมใช้ภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัย มีดังต่อไปนี้

  • โคมไฟสนาม (Bollard Light)

เป็นโคมไฟแบบตั้งพื้นที่นิยมติดตั้งในบริเวณทางเดินในสวน เพื่อให้แสงสว่าง เสริมบรรยากาศความสวยงามและปลอดภัยในเวลากลางคืน โดยโคมไฟสนามมักมีความสูงไม่เกิน 1 เมตร อีกทั้งยังสามารถกันฝุ่น กันน้ำ ได้ตามมาตรฐาน IP เพื่อให้สามารถติดตั้งในพื้นที่กลางแจ้งได้โดยไม่เกิดความเสียหาย

  • โคมไฟหัวเสา (Border Light)

แม้จะมีชื่อว่า โคมไฟหัวเสา แต่โคมไฟประเภทนี้สามารถติดตั้งได้ทั้งบนกำแพง รั้ว หรือหัวเสา เพื่อให้แสงสว่างบริเวณภายนอกบ้าน เพิ่มความสวยงาม และสร้างเอกลักษณ์ให้กับบรรยากาศโดยรอบ

  • ไฟดาวน์ไลท์ (Downlight)

ไฟดาวน์ไลท์เป็นดวงไฟที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ติดตั้งโดยการฝังหรือติดลอยบนฝ้าเพดาน โดยหลักการทำงานจะเน้นให้แสงไฟส่องลงด้านล่างเพื่อเน้นแสงสว่างในจุดที่ต้องการเป็นหลัก เหมาะสำหรับการติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งห้องขนาดเล็กและขนาดใหญ่

  • โคมไฟราง แทรคไลท์ (Track Light)

เป็นชุดโคมไฟแบบรางที่ติดเข้ากับเพดาน โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากไฟดาวน์ไลท์ มีจุดเด่นคือสามารถควบคุมทิศทางในการส่องแสงได้คล้ายกับสปอตไลต์ ช่วยให้สามารถเน้นความสว่างเฉพาะจุดที่ต้องการได้ อีกทั้งยังเคลื่อนย้ายและติดตั้งได้อย่างอิสระเพื่อตอบสนองความต้องการในการตกแต่งที่หลากหลาย

เสาไฟถนนในช่วงเวลาเย็น

ประเภทของโคมไฟที่ใช้ในพื้นที่สาธารณะและอุตสาหกรรม

เนื่องจากพื้นที่สาธารณะอย่างถนนหลวงและโรงงานอุตสาหกรรมมีความต้องการแสงสว่างที่สูงกว่าพื้นที่อยู่อาศัยทั่วไป โคมไฟจึงถูกออกแบบมาให้มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • โคมไฟโลว์เบย์ – โคมไฟไฮเบย์ (Lowbay – Highbay)

โคมไฟไฮเบย์ เป็นโคมไฟส่องสว่างสำหรับติดตั้งบนเพดาน มีความโดดเด่นคือสามารถให้แสงสว่างได้ทั่วถึงสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยโคมไฟไฮเบย์มักจะติดตั้งที่ระดับความสูง 6 เมตรขึ้นไป มีมุมกระจายแสงอยู่ที่ 90 องศา และมีกำลังไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 50W ขึ้นไป

ส่วนโคมไฟโลว์เบย์ เป็นชื่อเรียกของโคมไฟประเภทเดียวกับโคมไฟไฮเบย์ แต่มีข้อแตกต่างตรงที่จะติดตั้งในความสูงระหว่าง 4.5 – 6 เมตร และจะมีค่าวัตต์รวมถึงความเข้มแสงที่น้อยกว่า เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนหรือแสงแยงตาระหว่างใช้งาน

  • โคมไฟเสาสูง (Post Top Light)

มีลักษณะการใช้งานใกล้เคียงกับโคมไฟสนาม แต่มีความสูงและระยะการกระจายแสงที่เป็นวงกว้างกว่า ช่วยให้เห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบได้อย่างทั่วถึง โคมไฟเสาสูงจะมีความสูงเฉลี่ย 2-4 เมตร เหมาะกับการติดตั้งบนทางเดินสาธารณะหรือลานจอดรถที่มีความกว้างมากกว่าทางเดินภายในบ้าน

  • สปอตไลต์ (Spot Light)

เป็นประเภทโคมไฟที่มีการกระจายลำแสงแคบ และมีความเข้มแสงสูงกว่าหลอดไฟทั่วไป สามารถควบคุมทิศทางได้ง่าย สปอตไลต์จึงเหมาะกับการใช้เป็นไฟเน้นส่องสว่างเฉพาะจุด เช่น ในโรงภาพยนตร์, ป้ายโฆษณา, งานนิทรรศการ หรือใช้สร้างบรรยากาศในงานต่าง ๆ

  • โคมไฟฟลัดไลท์ (Flood Light)

มีลักษณะการใช้งานที่คล้ายคลึงกับสปอตไลต์ แต่มีความแตกต่างตรงที่โคมไฟฟลัดไลท์จะมีองศาในการส่องแสงที่กว้างว่า นิยมใช้สำหรับพื้นที่โล่งหรือพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างสนามฟุตบอล ทางเดิน โกดังสินค้า ลานจอดรถ เป็นต้น

  • โคมไฟถนน (Street Light)

เป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่ติดตั้งตามริมถนนและพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืนและอำนวยความสะดวกในการสัญจรของทั้งผู้ขับขี่และผู้เดินเท้า โดยนิยมใช้กับเสาไฟถนนที่มีความสูงตั้งแต่ 10 – 12 เมตรขึ้นไป การเลือกใช้โคมไฟถนนจึงควรเลือกสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสูง เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในระยะยาว

  • โคมไฟ UVC (UV-C)

โคมไฟ UVC เป็นโคมไฟประเภทพิเศษ มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราในอากาศ ในน้ำ รวมถึงบนพื้นผิววัตถุด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต นิยมใช้ในสถานพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

โคมไฟหลากหลายประเภทภายในห้อง

วิธีเลือกโคมไฟประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะกับการใช้งาน

  1. ขนาดและรูปแบบของห้อง

หากเป็นห้องที่มีขนาดเล็กและพื้นที่จำกัด ควรเลือกประเภทของโคมไฟที่มีขนาดกะทัดรัดอย่างโคมไฟรางหรือโคมไฟดาวน์ไลท์ หรือหากเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและต้องการความสวยงาม อาจเลือกโคมที่มีลักษณะเฉพาะอย่างโคมระย้าหรือติดตั้งโคมไฟหลาย ๆ ดวงเพื่อให้แสงสว่างส่องได้ทั่วถึง

  1. ความสูงของเพดาน

หากในพื้นที่มีความสูงเพดานค่อนข้างมาก ควรเลือกใช้โคมไฟที่ให้แสงสว่างกระจายตัวได้ดีอย่างโคมไฟห้อยเพดาน หรือหากเป็นห้องที่มีเพดานต่ำ ควรเลือกโคมไฟที่ติดตั้งใกล้เพดาน เช่น โคมไฟดาวน์ไลท์ จะช่วยให้ห้องดูโปร่งโล่ง และช่วยลดเงาตกกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโคมไฟในรูปแบบอื่น

  1. ลักษณะการใช้งานห้อง

แต่ละห้องจะมีลักษณะการใช้งานที่ต่างกันออกไป และส่งผลต่อการเลือกประเภทโคมไฟ ห้องที่ใช้สำหรับการพักผ่อน เช่น ห้องนอน ห้องรับประทานอาหาร อาจเลือกโคมไฟที่มี Dimmer Switch ในตัว หรือใช้โคมไฟที่เน้นเฉพาะจุด เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดูอบอุ่น ส่วนห้องทำงานหรือห้องนั่งเล่นที่จำเป็นต้องใช้แสงในวงกว้าง ควรเลือกเป็นโคมไฟเพดานขนาดใหญ่ที่ให้แสงสว่างได้ทั่วถึง

  1. สไตล์การตกแต่ง

การตกแต่งภายในห้องก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำหรับการเลือกประเภทของโคมไฟ หากเป็นห้องที่ตกแต่งในโทนเรียบง่าย สไตล์มินิมอลหรือสไตล์โมเดิร์น ควรเลือกโคมไฟที่มีดีไซน์เรียบง่าย อย่างโคมไฟรางหรือโคมไฟดาวน์ไลท์ จะช่วยเสริมสร้างความรู้สึกโปร่ง โล่ง และทันสมัย หรือหากเป็นห้องที่ตกแต่งในสไตล์วินเทจหรือสไตล์ลอฟท์ ที่เน้นบรรยากาศอบอุ่น ควรเลือกเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะหรือโคมห้อยเพดานที่มีโครงสร้างและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์

โคมไฟที่ตั้งอยู่ในห้องนั่งเล่น

ตัวอย่างการเลือกประเภทดวงโคม ให้เหมาะกับห้องต่าง ๆ

  • ห้องนอน

โคมไฟ: เลือกโคมไฟที่มีแสงสว่างไม่จ้าเกินไป เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายก่อนนอน หรือเลือกแบบที่มี dimmer switch เพื่อปรับความสว่างได้ตามต้องการ

อุณหภูมิสีของหลอดไฟ: เลือกแสงสีหลอดไฟที่อบอุ่น อย่างโทนวอร์มไวท์และคูลไวท์ เพื่อสร้างบรรยากาศที่สงบ

  • ห้องทำงาน

โคมไฟ: เลือกโคมไฟที่สามารถกระจายแสงได้ดี และให้แสงสว่างชัดเจน เพื่อช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุณหภูมิสีของหลอดไฟ: เลือกแสงสีขาว (คูลไวท์) หรือแสงกลางวัน (เดย์ไลท์) เพื่อช่วยให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน

  • ห้องนั่งเล่น

โคมไฟ: ควรเลือกโคมไฟเพดานขนาดใหญ่ หรือโคมไฟระย้า เพื่อให้แสงสว่างทั่วถึงทั้งห้อง โดยอาจเพิ่มโคมไฟตั้งพื้น โคมไฟตั้งโต๊ะ หรือโคมไฟติดผนัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง

อุณหภูมิสีของหลอดไฟ: สามารถเลือกใช้ได้ทุกอุณหภูมิสี หากต้องการบรรยากาศที่ปลอดโปร่ง ให้เลือกใช้หลอดไฟแบบเดย์ไลท์ หรือหากต้องการบรรยากาศที่อบอุ่น สามารถเลือกหลอดวอร์มไวท์หรือคูลไลท์ได้ตามความเหมาะสม

  • ห้องครัว

โคมไฟ: เน้นประเภทของโคมไฟที่ให้แสงสว่างได้ทั่วถึง ควรเลือกโคมไฟดาวน์ไลท์และติดตั้งหลาย ๆ ดวง เพื่อให้แสงสว่างกระจายทั่วถึงบริเวณพื้นที่เตรียมอาหารและเคาน์เตอร์

อุณหภูมิสีของหลอดไฟ: เลือกแสงคูลไวท์ หรือเดย์ไลท์ เพื่อช่วยให้มองเห็นอุปกรณ์และวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้อย่างชัดเจน

เพราะโคมไฟไม่เพียงแค่เป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่างเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันไป การเลือกโคมไฟที่เหมาะสมกับการใช้งาน จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สำหรับบ้านพักอาศัย หรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านแสงสว่าง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ จะช่วยให้คุณได้โคมไฟที่ตอบโจทย์ความต้องการและใช้งานได้ยาวนาน

Winner Light ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย พร้อมบริการติดตั้งเสาไฟถนน โคมไฟถนน เสาไฟถนนโซลาร์เซลล์ ที่ครองใจลูกค้ามาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านแสงสว่างได้อย่างครอบคลุม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

เบอร์โทรศัพท์ : 02-415-7576-7, 081-880-6616

Website: www.winnerlight.co.th

Facebook: www.facebook.com/bangbonstation